การปกครองของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ของ ยุครัฐในอารักขา

เมื่อยุบเลิกรัฐสภาแบร์โบนแล้ว จอห์น แลมเบิร์ต (John Lambert) นายทหารผู้หนึ่ง เสนอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรียกว่า "ตราสารการปกครอง" ซึ่งใช้รูปแบบส่วนใหญ่ตามหัวข้อคำเสนอ (Heads of Proposals) ตราสารดังกล่าวทำให้โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ได้เป็นเจ้าผู้อารักขาไปชั่วชีวิต โดยมีสถานะเป็นประธานแมจิสเตรต (magistrate) และดำเนินการปกครอง มีอำนาจเรียกประชุมและยุบเลิกรัฐสภา แต่ต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากจากสภาแห่งรัฐด้วย โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเจ้าผู้อารักขาในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1653

การปกครองของกลุ่มพลตรี

ดูบทความหลักที่: การปกครองของกลุ่มพลตรี

รัฐสภาชุดแรกของรัฐในอารักขาเปิดประชุมในวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1654 และหลังจากรัฐสภาแสดงท่าทีบางประการในเบื้องต้นเพื่อเป็นนัยว่า ยอมรับบุคคลที่โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ แต่งตั้งเอาไว้ รัฐสภาก็เริ่มกระบวนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ แต่ในวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1655 โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐบัญญัติบางฉบับ ก็ประกาศยุบเลิกรัฐสภาเสียทีเดียว แทนที่จะยับยั้งร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ เซอร์จอห์น เพนรัดด็อก (John Penruddock) จึงนำกลุ่มผู้สนับสนุนราชวงศ์ลุกขึ้นต่อต้านการปกครอง เป็นเหตุให้โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ แบ่งเขตการปกครองทั่วอังกฤษออกเป็นเขตทหาร (military district) ให้มีหัวหน้าเขตเป็นทหารชั้นพลตรี 15 คนซึ่งขึ้นตรงต่อเขาเท่านั้น รวมกันเรียกว่า "ผู้ว่าการผู้ทรงธรรม" (godly governor) และมีอำนาจควบคุมกองทหาร เก็บภาษี ตลอดทั้งสร้างความมั่นใจว่า รัฐบาลจะได้รับการสนับสนุนจากท้องที่ต่าง ๆ ในอังกฤษและเวลส์ นอกจากนี้ มีการแต่งตั้งข้าหลวงรักษาความสงบแห่งจักรภพ (commissioner for securing the peace of the commonwealth) ขึ้นทุกเทศมณฑลเพื่อทำงานร่วมกับผู้ว่าการดังกล่าว ข้าหลวงเหล่านี้บางคนซึ่งเป็นส่วนน้อยเคยคร่ำหวอดในวงการเมือง แต่ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกลัทธิพิวริตันนิซึมซึ่งอ้าแขนต้อนรับกลุ่มพลตรีและสนับสนุนกิจการของพวกเขาด้วยความเปรมปรีดิ์ อย่างไรก็ดี หลายคนเกรงว่า กลุ่มพลตรีจะเป็นภัยต่ออำนาจหน้าที่ของตนและต่อกระบวนการปฏิรูปประเทศ ประกอบกับเมื่อพลตรี จอห์น เดสเบอระ (John Desborough) ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับภาษีเพื่อให้มีการสนับสนุนทางการเงินต่อการดำเนินงานของกลุ่มพลตรี แต่รัฐสภาชุดที่สองของรัฐในอารักขา ซึ่งแต่งตั้งในเดือนกันยายน ค.ศ. 1656 ลงคะแนนไม่เห็นชอบ เพราะประหวั่นว่า ประเทศจะกลายเป็นรัฐทหารเป็นการถาวร ทำให้กลุ่มพลตรีอยู่ในตำแหน่งได้ไม่ถึงหนึ่งปี นอกจากนี้ กิจกรรมของกลุ่มพลตรีในช่วงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1655 จนถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 1656 ยังส่งผลให้ผู้คนเกลียดชังระบอบการปกครองนี้ยิ่งขึ้นไปอีก[1]

บทบาทของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์

เมื่อการปฏิรูปรัฐธรรมนูญดำเนินมาจนถึง ค.ศ. 1657 ปรากฏว่า รัฐสภาเสนอให้โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ขึ้นเป็นกษัตริย์ ทำให้เขาคิดไม่ตก เพราะตัวเขาเองเป็นโต้โผในการล้มล้างระบอบกษัตริย์มาก่อน เขาทนหนักใจเพราะข้อเสนอนี้มาถึง 6 สัปดาห์ จนวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1657 จึงแถลงว่า ไม่รับเป็นกษัตริย์[2] แต่กระนั้น ก็รับตำแหน่งเจ้าผู้อารักขาอีกครั้ง ซึ่งมีอำนาจมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ตามที่ระบุไว้ในเอกสาร "ฎีกาและคำแนะนำอันนอบน้อม" (Humble Petition and Advice) อันประกาศใช้แทนที่ตราสารการปกครอง แม้ไม่ยอมเป็นกษัตริย์ แต่ก็เข้ารับตำแหน่งเจ้าผู้อารักขา ณ ท้องพระโรงเวสต์มินสเตอร์ด้วยการขึ้นนั่งเหนือบัลลังก์ราชาภิเษกที่สั่งให้ยกมาจากเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์เพื่อการนี้โดยเฉพาะ พิธีรับตำแหน่งของเขายังคล้ายกับพิธีราชาภิเษก มีการใช้ราชสัญลักษณ์และกกุธภัณฑ์หลายอย่าง เช่น เครื่องทรงสีม่วง, ดาบแห่งความยุติธรรม, คทา, และจุลมงกุฏ แต่ไม่ได้ใช้มงกุฏหรือลูกโลก ซึ่งเอามาใส่ไว้ในตราประจำแหน่งของเขาแทน กระนั้น โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ "ไม่เคยได้รับความยินยอมพร้อมใจจากชนในชาติ และรัฐในอารักขาก็ดำเนินไปโดยตั้งอยู่บนการใช้กำลังทหาร"[3]

ใกล้เคียง

ยุครัฐในอารักขา ยุครัฐในอารักขาของไทยและเวียดนาม ยุครณรัฐ ยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ ยุวรัตน์ กมลเวชช ยุคราชสำนักเหนือ-ใต้ ยุคสัมฤทธิ์ ยุคราชวงศ์คองบอง ยุคระเบียบใหม่ (อินโดนีเซีย) ยุคร่วมสมัย